

ประเทศไทยเป็นพื้นที่ในเขตร้อนชื้น มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการเติบโตของต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ ดังนั้นบ้านเราจึงมีทรัพยากรป่าไม้ค่อนข้างมากมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมทีเราจะใช้ผลผลิตที่ได้จากป่าเพื่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ต้นไม้ หรือสัตว์ป่า ต่อมาจึงพัฒนาเป็นการค้าขายจนถึงการท่องเที่ยวในปัจจุบันเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ป่าไม้ในบ้านเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจก็คือ ความหลากหลายของป่าแต่ละพื้นที่นั่นเอง ถ้าแบ่งตามประเภทใหญ่ๆ แล้วก็จะมีแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือ ป่าไม้ผลัดใบ และป่าไม้ไม่ผลัดใบ
ป่าไม้ไม่ผลัดใบ
ป่าในกลุ่มนี้จะมีความเขียวขจีอยู่ตลอดเวลา ด้านในมีปริมาณความชื้นค่อนข้างมาก สีสันของใบไม้ก็มักจะเป็นสีเขียวเกือบทั้งหมด อาจจะไล่โทนจากอ่อนไปเข้มบ้าง แต่จะไม่ค่อยได้เห็นใบไม้หลากสีเท่าไร ความสำคัญก็คือเป็นที่อยู่อาศัยพร้อมกับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด ป่าไม้ผลัดใบที่เราพบได้ง่ายมีดังนี้
– ป่าดิบชื้น นับเป็นป่าที่มีความรก และมีต้นไม้หนาแน่นมากที่สุด ต้นไม้ส่วนใหญ่ขึ้นแบบอัดแน่น มีความสัมพันธ์กันด้วย ต้นหนึ่งเกื้อกูลอีกต้นหนึ่ง เราพบป่าดิบชื้นได้แทบทุกพื้นที่เลยทีเดียว
– ป่าดิบเขา แค่ชื่อก็รู้แล้วว่าจะต้องเป็นป่าที่อยู่ตามภูเขาอย่างแน่นอน ส่วนใหญ่แล้วอยู่ทางภาคเหนือหรือภาคอีสานของไทย ความชื้นก็จะลดน้อยลงมา บางโซนมีต้นไม้หนาตา บางโซนเป็นพื้นที่โล่งเตียนสลับสับเปลี่ยนกันไป
– ป่าดิบแล้ง ป่าประเภทนี้จะอยู่ในหุบเขาหรือพื้นที่ราบทั่วไป ความชื้นน้อยที่สุด มีพื้นที่โล่งภายในป่าค่อนข้างมาก มักเป็นแหล่งหาพืชสมุนไพรของชาวบ้านทั่วไป
– ป่าชายเลน เป็นอีกหนึ่งระบบนิเวศน์ที่สำคัญมาก เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำหลายชนิด ต้นไม้ที่นี่ไม่ได้หนาแน่นเท่าไรแต่มีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากที่อื่นอย่างชัดเจน
– ป่าพรุ หลายคนเรียกว่าป่าน้ำจืด เพราะมักจะอยู่บริเวณที่มีน้ำท่วมขังเล็กน้อย และจะต้องเป็นน้ำจืดด้วย ความพิเศษอยู่ที่มีแร่ธาตุในดินเยอะมาก
– ป่าสนเขา ถึงแม้จะมีชื่อเรียกว่าสนเขาแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ป่าทั้งหมดจะมีแต่ต้นสนเท่านั้น เพียงแค่อาจจะมีปริมาณมากสักหน่อย เป็นป่าที่ค่อนข้างโปร่ง ลมพัดแรง พบมาในแถบภาคเหนือ
ป่าไม้ผลัดใบ
ต้นไม้ในป่าประเภทนี้จะมีรอบเวลาของใบไม้อยู่ แรกเริ่มอาจจะเป็นสีหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มเปลี่ยนสีเรื่อยๆ จนกระทั่งหลุดร่วงจากลำต้น รอให้ใบไม้รุ่นใหม่ผลิใบออกมา ป่าไม้ผลัดใบจึงมีหลายสีสันแล้วแต่ฤดูกาล เหมาะกับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นเยี่ยม แต่ก็มักมีปัญหาไฟไหม้ป่าเพราะความแห้งได้ง่าย ตัวอย่างของป่าไม้ผลัดใบได้แก่
– ป่าเบญจพรรณ นี่คือป่าลูกผสมที่มีต้นไม้หลายสายพันธุ์มาอยู่รวมกัน มีตั้งแต่ไม้ล้มลุก ไม้ไผ่ ไม้ยืนต้น ตำแหน่งการเติบโตก็จะกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ พบได้มากในแถบภาคกลาง และอีสาน
– ป่าเต็งรัง ป่านี้มีหลายชื่อเรียกแล้วแต่ท้องถิ่น เช่น ป่าแดง ป่าโคก เป็นต้น ลักษณะของป่าค่อนข้างโปร่ง มองทะลุไปได้ค่อนข้างลึก ความชื้นต่ำมาก และพื้นก็มีหินกรวดปะปนอยู่พอสมควร จุดเด่นคือมีความหลากหลายของสายพันธุ์ต้นไม้มากกว่าป่าชนิดอื่นๆ
– ป่าหญ้า จริงๆ แล้วมันน่าจะเกิดจากการเปรียบเทียบซะมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามมันก็ได้ถูกกำหนดให้เป็นป่าอีกชนิดหนึ่ง ป่าแบบนี้ไม่ได้มีต้นไม้มากนัก มันเกิดจากที่ดินซึ่งถูกทิ้งร้างจนหญ้าขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เมื่อนานวันเข้าก็ยิ่งมีหญ้าสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก บางชนิดมีต้นสูงท่วมหัว นานๆ ทีก็จะพบต้นไม้อยู่บ้างในพื้นที่แต่จะเป็นต้นไม้ประเภททนไฟได้